(แฟ้มภาพซินหัว : ธารน้ำแข็งฟอกซ์บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะใต้ในนิวซีแลนด์ วันที่ 24 มี.ค. 2024)
ลอนดอน, 21 ก.พ. (ซินหัว) -- วารสารเนเจอร์ (Nature) เผยแพร่ผลการศึกษาฉบับใหม่จากทีมวิจัยนานาชาติ 35 ทีม ซึ่งระบุว่าธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 2 เซนติเมตร เมื่อนับตั้งแต่ต้นศตวรรษ เนื่องจากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะการทำกิจกรรมของมนุษย์
ธารน้ำแข็งถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยการศึกษานี้พบว่าธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็งระหว่างปี 2000-2023 ราว 6.542 ล้านล้านตัน ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 18 มิลลิเมตร
การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างครอบคลุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปรียบเทียบสมดุลมวลสารธารน้ำแข็งหรือแกรมบี (Glacier Mass Balance Intercomparison Exercise - Glambie) ซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม รวมถึงภารกิจดาวเทียมที่ใช้ตัวนำแสง เรดาร์ และเลเซอร์
การประเมินนี้ไม่นับรวมแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ในทวีปแอนตาร์กติกและกรีนแลนด์ แต่สรุปว่าจนถึงศตวรรษนี้ ธารน้ำแข็งในพื้นที่อื่นๆ ของโลกได้สูญเสียน้ำแข็งราวร้อยละ 5 ของปริมาณทั้งหมด ขณะธารน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียน้ำแข็งเฉลี่ยปีละ 2.73 แสนล้านตัน เทียบเท่าปริมาณการใช้น้ำของประชากรโลกในระยะเวลา 30 ปี
การสูญเสียมวลน้ำแข็งในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยการวิจัยพบว่าหมู่เกาะในแอนตาร์กติกและซับแอนตาร์กติกได้สูญเสียน้ำแข็งร้อยละ 2 ของทั้งหมด แต่ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์และพิเรนิสสูญเสียน้ำแข็งร้อยละ 39 ของปริมาณทั้งหมดภายในระยะเวลาไม่ถึง 25 ปี
คณะนักวิจัยระบุว่าธารน้ำแข็งสูญเสียมวลน้ำแข็งมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 และ 2023 ขณะภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น โดยการละลายของธารน้ำแข็งเชื่อมโยงกับความเสี่ยงระดับน้ำทะเลหนุนสูง อุทกภัย และภัยแล้งเพิ่มขึ้น